วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กฎหมายควบคุมยาของญี่ปุ่น คัดลอกจาก Manager Online

ทางการญี่ปุ่นเตือนนักท่องเที่ยวพึงระวังการนำยาเข้าประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากยาที่ถูกต้องตามกฎหมายในบางประเทศอาจเป็นยาที่ไม่สามารถนำเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ แม้แต่ยารักษาโรคบางอย่างก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด โดยผู้ที่ฝ่าฝืนเสี่ยงต้องโทษจำคุก
     
       กรณีที่นางจูเลีย แฮมป์ ผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่โรงแรมในกรุงโตเกียว เนื่องจากนำเข้ายาแก้ปวดชนิดหนึ่งเข้าประเทศ เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงถึงกฎหมายควบคุมยาอันเข้มงวดของญี่ปุ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวจำนวนมากยังไม่ทราบว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ควบคุมยาดเสพติดเท่านั้น แต่ยารักษาโรคบางกลุ่มก็ไม่สามารถนำเข้าประเทศญี่ปุ่นได้
     
       ตามกฎหมายของญี่ปุ่นแล้ว จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดทั้งยาที่นำเข้าด้วยตัวเองผ่านทางสนามบิน รวมทั้งยาที่ส่งมาทางพัสดุไปรษณีย์ โดยผู้ที่ถูกพบว่าครอบครองยาผิดกฎหมายจะถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวนอย่างน้อย 2-3 เดือนโดยไม่สามารถประกันตัวได้ และในกรณีที่พบว่ามีความผิดจริงอาจถูกจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 5 ล้านเยน แต่หากพบว่าเป็น “ยาเสพติด” อาจต้องโทษหนักยิ่งขึ้น
     
       ยากลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ยาแก้หวัดแก้แพ้ในกลุ่ม pseudoephedrine ที่มีชื่อทางการค้า เช่น แอคติเฟด, ซูดาเฟด ฯลฯ รวมทั้ง ยาแก้ปวดอย่าง ออกซิโคโดน ที่ผู้บริหารโตโยต้าได้รับทางพัสดุไปรษณีย์นั้นก็ซึ่งเป็นยาที่ผิดกฎหมายของญี่ปุ่น
     
       ยากระตุ้นประสาทในกลุ่ม Adderall ซึ่งใช้รักษาโรคสมาธิสั้นก็ถือเป็นยาเสพติดในญี่ปุ่น เนื่องจากมีส่วนผสมของแอมเฟตามีน

เครื่องสำอางค์บางอย่างนั้นถือว่า “มีส่วนผสมยา” ตามกฎหมายของญี่ปุ่น

        ปริมาณยาที่นำเข้าญี่ปุ่นก็มีการควบคุมเช่นเดียวกัน โดยนักท่องเที่ยวสามารถนำเข้าเข้าประเทศญี่ปุ่นสำหรับใช้เองได้ไม่เกินปริมาณ 1 เดือน แต่ที่พึงระวังคือ เครื่องสำอางค์หลายอย่างที่มีฤทธิ์เป็นยา เช่น ยาหยอดตา, ยาทากันยุง , ยาสมุนไพร รวมทั้ง ยาดม ยาหม่อง และอาหารเสริมบางประเภท สามารถนำเข้าญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 24 ชิ้นเท่านั้น
     
       เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น ย้ำว่า นักท่องเที่ยวบางคนไม่รู้ว่า อาหารเสริมหรือเครื่องสำอางค์บางอย่างนั้นถือว่า “มีส่วนผสมยา” ตามกฎหมายของญี่ปุ่น จึงนำติดตัวมาในปริมาณมาก ซึ่งถือว่ามีความผิดแม้จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม
     
       ในส่วนของยาเสพติด รัฐบาลญี่ปุ่นควบคุมเข้มงวดยิ่งกว่า แม้แต่คนดังของโลกหลายคนที่มีประวัติพัวพันกับยาเสพติดในต่างประเทศ ก็เคยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว เช่น นางแบบชื่อดัง ปารีส ฮิลตัน ถูกส่งตัวกลับทันทีหลังจากเดินทางถึงสนามบินนาริตะ เนื่องจากเธอมีประวัติใช้ยาเสพติด ถึงแม้เรื่องจะไม่ได้เกิดขึ้นในแดนอาทิตย์อุทัยก็ตาม แม้แต่นักดนตรีดังอย่าง เซอร์พอล แมคคาทนีย์ หรือ มิค แจคเกอร์ สมาชิกวงโรลลิ่งสโตน ก็ถูกสั่งห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่นนานถึง 10ปี เนื่องจากพัวพันกับยาเสพติด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น