สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย
คำวินิจฉัยที่ สค 178/2552
ข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการอภิปรายแสดงความคิดเห็นและมีมติในที่ประชุมของ ก.อ. ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นและการใช้ดุลพินิจเฉพาะตัวของกรรมการอัยการแต่ละคนตามที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไว้ ข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์ จึงเป็นความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตามนัย มาตรา 15 (3) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ ประกอบกับการเปิดเผยข้อมูลข่่าวสารตามอุทธรณ์จะทำให้ทราบว่า บุคคลใดอภิปรายในที่ประชุมอย่างไร อาจมีผลกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นอันเป็นอิสระของกรรมการอัยการ ซึ่งเป็นผู้อภิปรายและลงความเห็นในการประชุมครั้งดังกล่าว นอกจากนี้การเปิดเผยให้ทราบความเห็นของกรรมการอัยการแต่ละคน เพื่อทำให้เกิดการนำไปฟ้องคดี อาจส่งผลเสียหายต่อการดำเนินงานของ ก.อ. ซึ่งมีความรับผิดชอบร่วมกันในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะประกอบกันแล้ว การที่สำนักงานอัยการสูงสุดใช้ดุลพินิจไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์ จึงชอบแล้ว
(ข้อมูลจากอัยการนิเทศ เล่มที่ 74 พุทธศักราช 2554 หน้า 290)
คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
สาขาสังคม
การบริหารราชการแผ่นดินและบังคับใช้กฎหมาย
คำวินิจฉัยที่ สค 125/2552
พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 15(2)(3)(4),33,35
เรื่อง
อุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัย
สำนวนการสอบสวนทางวินัยของนาง
ก พนักงานอัยการที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วว่า ไม่มีความผิด
การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในสำนวนการสอบสวนดังกล่าวไม่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้
ในทางตรงกันข้ามการเปิดเผยจะเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่และการเปิดเผยจะทำให้ผู้อุทธรณ์สิ้นข้อสงสัยในการดำเนินการสอบสวนทางวินัยของสำนักงานอัยการสูงสุด
และทำให้เกิดความเชื่อถือต่อการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการ
ทั้งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด
ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนทางวินัยนาง ก
จึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้
(ข้อมูลจากอัยการนิเทศ เล่มที่ 74 พุทธศักราช 2554 หน้า 283)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น