ป.วิ.พ. มาตรา 47
หนังสือมอบอำนาจที่กระทำในเมืองต่างประเทศ โดยมีโนตารีปับลิกรับรองว่า รองประธานบริษัทได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจต่อหน้าตนนั้น เทียบเคียงได้กับกรณีการเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม คือไม่จำเป็นต้องมีเจ้าพนักงานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยรับรองเป็นพยานอีกชั้นหนึ่ง แม้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยจะรับรองหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ในภายหลัง เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างหรือโต้แย้งอย่างใดแล้ว ศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้.
ป.วิ.พ. มาตรา 18
ป.รัษฎากร มาตรา 118
ประเด็นเรื่องหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 ไม่ได้บังคับว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นเอกสารที่ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้อง ดังนั้น แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจะไม่มีหนังสือมอบอำนาจแนบมาด้วยก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพียงแต่ว่าเมื่อใดโจทก์อ้างหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐาน โจทก์จะต้องปิดแสตมป์ให้บริบูรณ์และขีดฆ่าแล้ว ศาลจึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้เมื่อโจทก์อ้างในคำฟ้องว่ามอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีแทนเท่านั้นซึ่งโจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาต่อไป การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ให้โอกาสโจทก์สืบพยานก่อนจึงไม่ชอบ
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 จึงเป็นการอุทธรณ์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข.ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง