หลักเกณฑ์
- ในกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง
- ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลในกรณีต่อไปนี้ แม้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอม
(ก) เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
(ข) เมื่อนำเอกสารมาแสดงแล้ว ขอสืบพยานบุคคลว่ามีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อ
ความในเอกสาร
ข้อยกเว้น คู่ความมีสิทธิสืบพยานบุคคล ตาม (ก) และ (ข) ได้ ตามมาตรา ๙๔ วรรคท้าย ในกรณีต่อไปนี้
(1) กรณีต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้เพราะสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือ ไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาแสดง ตามมาตรา ๙๓ (๒)
(2) สืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่าเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้อง
(3) สืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุในเอกสารไม่สมบูรณ์
(4) สืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความผิด
กรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ได้แก่ กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ
กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ เช่น
1.การโอนสิทธิเรียกร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306
2.การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 349 วรรค 3
3.การปลดหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340
4.การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก ตาม ป.พ.พ.มาตรา 496 วรรค 2
5.สัญญาเช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572
6.การบอกกล่าวบังคับจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 (เคยออกข้อสอบอัยการผู้ช่วยปี 2542 วิ-แพ่ง วิ-อาญา ข้อ 10 ประเด็นสุดท้าย)
7.การปลดจำนองตาม ป.พ.พ.มาตรา 744
8.การตั้งตัวแทนในกิจการที่ต้องทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคแรก
9.ตั๋วเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 898,900
10.การหย่าโดยความยินยอม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรค 2
11.พินัยกรรม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656
12.การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129
13.ความยินยอมร่วมกันของสามีภริยาในการทำนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ หรือ ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1479
14.การมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรค 2
15.การโอนลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 17 วรรค 2
กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
1.สัญญาซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 456,519,525
2.จำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 714
กรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
1.สัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456
2.สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 บาท ขึ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคท้าย
3.สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538
4.สัญญากู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป และการนำสืบการใช้เงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653
5.สัญญาค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680
6.การตั้งตัวแทนในกิจการที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง
7.สัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 851
8.สัญญาประกันภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 867
9.สัญญาแบ่งมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง
สัญญาจะซื้อขายที่ดินระบุเวลาชำระราคากันไว้แล้ว คู่สัญญาจะนำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงชำระในวันอื่น แตกต่างจากที่ระบุไว้ในสัญญาไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามป.วิ.พ.มาตรา ๙๔ (ข) ฎ.๕๘๑ / ๒๕๓๐
แต่ถ้านำสืบว่าได้มีการตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดวันจดทะเบียนโอนกันใหม่โดยเลื่อนกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ออกไปเป็นวันอื่น สามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ (ข)
(ฎ.๕๐๔๕ /๒๕๓๘)
สัญญาจะซึ้อขายมีข้อความว่าผู้จะขายยอมตกลงจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๘๙ หมายความเป็นการตกลงขายหมดทั้งแปลง เหมาทั้งโฉนดรวมทั้งที่งอกริมตลิ่ง ดังนั้นจำเลยจะนำสืบว่าความจริงไม่ขายที่งอกด้วยไม่ได้ เพราะเป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร (ฎ.๓๑๐๒ / ๒๕๒๔)
สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์
สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกำหนดอัตราค่าเช่าไว้เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท เมื่อครอบกำหนดอายุการเช่า ๑ ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมาโดยโจทก์ไม่ทักท้วง มาตรา ๕๗๐ ป.พ.พ. ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันทำสัญญาใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งหมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนข้อสัญญาอื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิมรวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่าหลังจากครบอายุการเช่า ๑ ปี ในอัตราเดือนละ ๑๘,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าสูงกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าดังที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ ๑๘,๐๐๐ บาท จึงเป็นการต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ จำเลยคงต้องรับผิดตามอัตราค่าเช่าในสัญญาเช่าเดิมเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท (ฎ.๑๔๕ / ๒๕๓๓ และ ๑๓๗ / ๒๕๑๔ )
แต่การเรียกค่าเสียหายที่ผู้เช่ายังคงอยู่ในที่เช่าต่อมาหลังจากสัญญาเช่าระงับแล้ว ซึ่งเป็นคนละเรื่องต่างหากจากสัญญาเช่า หรืออีกนัยหนึ่งมิใช่เป็นการฟ้องระงับแล้ว ซึ่งเป็นคนละเรื่องต่างหากจากสัญญาเช่า หรืออีกนัยหนึ่งมิใช่เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาเช่า โจทก์จึงนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่า โจทก์จำเลยตกลงกันขึ้นค่าเช่าจากที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าในอัตราเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้ศาล กำหนดเป็นค่าเสียหายให้โจทก์ตามจำนวนดังกล่าวได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ แต่ประการใด (ฎ.๓๓๐๓ / ๒๕๓๒)
สัญญาเช่าระบุว่าจำเลยเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านอาศัยมีกำหนด ๑ ปี การที่จำเลยจะขอนำพยานบุคคลมาสืบว่าผู้ให้เช่าตกลงให้จำเลยอยู่ในที่ดินที่เช่าไปจนตลอดชีวิตโดยจำเลยจะปลูกสร้างโรงเรือนบนที่เช่า อันเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา จึงเป็นการขอสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๙๔ (ฎ.๒๔๐๒ / ๒๕๒๕)
จำเลยทำสัญญาแบ่งเช่าที่ดินพิพาทเพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า เพราะจำเลยได้ปลูกสร้างบ้านอีก ๒ หลังในที่ดินพิพาทแล้ว กั้นเป็นห้องนำไปให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยให้การว่าไม่ได้ผิดสัญญาเช่า เพราะโจทก์ยินยอมให้จำเลยปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทเพื่อให้บุคคลภายนอกเช่า แต่ที่ระบุในสัญญาเช่าว่าเพื่อปลูกสร้างอยู่อาศัยนั้นเป็นการแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินลอยๆ เพื่อให้เสียภาษีน้อยลงหนังสือแบ่งเช่าที่ดินพิพาทไม่สมบูรณ์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์หรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวนี้ นอกจากศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ปรากฎในหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดินแล้ว ศาลจำต้องฟังพยานบุคคลที่จำเลยนำสืบมาประกอบหนังสือสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวว่า โจทก์หรือจำเลยได้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดผิดไปจากข้อตกลงตามหนังสือสัญญาแบ่งเช่าที่ดิน อันจะถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น จำเลยผู้เช่าย่อมนำสืบพยานบุคคลถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความยินยอมของโจทก์ที่ได้ปฏิบัติมาต่อกันได้ ไม่เป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร อันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทเพื่อให้บุคคลภายนอกเช่า จำเลยจึงไม่ได้กระทำผิดสัญญาเช่า พิพากษายกฟ้อง
(๑๗๔๒ / ๒๕๔๕)
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบิดามารดาของ ศ. เจ้ามรดก ก่อนตาย ศ. ได้รับยกให้ที่พิพาทจากโจทก์ที่ ๑ ขอให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรของ ศ. แบ่งที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ได้ยกที่พิพาทให้ ศ. ที่พิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของ ศ. แต่เป็นทรัพย์มรดกของ ช.บิดาจำเลย โดยโจทก์ที่ ๑ ขายที่พิพาทให้ ช. ในราคา ๑๓๐,๐๐๐ บาท แล้วนำเงินไปไถ่จำนองที่พิพาท แต่ ช. ให้ ศ. เจ้ามรดกลงชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินไว้แทน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาว่า สัญญายกให้ที่พิพาทได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้การจำเลยจะมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบหักล้างได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำให้การจำเลยที่ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ที่ ๑ ไม่ได้ยกที่พิพาทให้ ศ. แต่เป็นการขายที่พิพาทให้ ช. โดยให้ ศ. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ที่ ๑ ได้ทำนิติกรรมยกให้อำพรางนิติกรรมการซื้อขายต้องบังคับตามนิติกรรมซื้อขายที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคสอง นิติกรรมการยกให้เป็นการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์เช่นนี้ จำเลยจึงนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ วรรคท้าย (ฎ.๑๔๔๔ / ๒๕๔๐)
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐ วรรคสองระบุว่าสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมการกู้ยืมเงินเข้าลักษณะยืมใช้สิ้นเปลือง ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน ย่อมเป็นเหตุให้สัญญากู้ยืมเงินไม่บริบูรณ์ ทั้งไม่มีมูลหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์จำเลย การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่มีมูลหนี้เพราะจำเลยไม่ได้รับเงิน จำเลยไม่ต้องรับผิด จำเลยย่อมนำสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ วรรคสอง หาต้องห้ามตามกฎหมายไม่ (ฎ.๔๖๘๖/๒๕๔๐)
โจทก์นำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้มอบเงินครบจำนวนตามสัญญากู้เงินให้จำเลยแล้ว แต่จำเลยยอมให้หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า เป็นการนำสืบถึงความเป็นมาของเงินต้นตามสัญญากู้ ไม่เป็นการรับฟังพยานบุคคลแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้ทั้งการที่โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แล้วในวันทำสัญญากู้ ก็เป็นการนำสืบแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงการรับฟังพยานบุคคลเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ (ฎ.๑๔๐๑ / ๒๕๒๕)
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่าเป็นเรื่องละเมิดจำเลยให้การต่อสู้เรื่องสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยอ้างว่าโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกัน และโจทก์ยอมให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ทันที ซึ่งจำเลยได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ผิดสัญญาไม่โอนสิทธิในที่ดินที่ซื้อขายให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ในชั้นพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยอ้างสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นพยานแล้ว โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลว่า มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นพยานแล้ว โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลว่า มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวต่อกันจริง แต่โจทก์ไม่ได้โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลย เพราะที่ดินดังกล่าวติดที่ราชพัสดุบางส่วน จำเลยจึงขอย้ายแปลงไปเอาแปลงถัดไป คดีมีปัญหาว่าเป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีเป็นการที่โจทก์สืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระงับไปแล้ว เพราะโจทก์จำเลยได้ตกลงยกเลิกสัญญาดังกล่าว และตกลงซื้อขายที่ดินแปลงอื่นต่อกันแทน เอกสารดังกล่าวไม่อาจใช้บังคับได้อีกต่อไป จึงมิใช่กรณีที่โจทก์สืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง (ข) (ฎ.๘๕๗๑ / ๒๕๔๗,ฎ.๔๖๘/๒๕๐๖ )
ถ้าตัวแทนฟ้องบุคคลภายนอกให้รับผิดตามสัญญาที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง บุคคลภายนอกก็จะนำสืบพยานบุคคลว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงตัวแทน ไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดไม่ได้ เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ (ข)
การฟ้องคดีระหว่างตัวการตัวแทนตามสัญญาตัวแทนโดยเฉพาะ แม้สัญญาที่ตัวแทนทำกับบุคคลภายนอก กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงและไม่มีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ ก็สามารถนำสืบพยานบุคคลเพื่อแสดงฐานะที่แท้จริงของตัวการตัวแทนกันได้เสมอ เพราะการตั้งตัวแทนที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๙๘ เป็นเรื่องความรับผิดระหว่างตัวการกับบุคคลภายนอก ไม่ใช่บังคับในระหว่างตัวการตัวแทนด้วยกันเอง ดังนั้นจึงไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๙๔ ย่อมสามารถนำสืบพยานบุคคลได้
การกู้ยืมเงินเกินกว่า ๒,๐๐๐ บาทขึ้นไปต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเฉพาะผู้ยืมเท่านั้น ผู้ให้กู้ไม่จำต้องลงลายมือชื่อก็ได้ การตั้งตัวแทนเพื่อทำสัญญาให้กู้ยืมจึงไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๙๘ วรรคสอง และมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา ๙๔ ผู้กู้ย่อมสามารถนำพยานบุคคลมาสืบว่าผู้มีชื่อเป็นผู้ให้กู้ในสัญญากู้ยืมเป็นเพียงตัวแทน และผู้กู้ได้ชำระหนี้เงินกู้แก่ผู้ให้กู้ที่แท้จริงแล้วได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๙๔
_____________________________________________________________________
ภาคผนวก
ป.พ.พ.มาตรา 561 เรื่องเช่าก็น่าจะเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับต้องทำเป็นหนังสือ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าไม่ใช่กรณีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 เพราะ ในตอนท้ายกฎหมายบัญญัติยกเว้นว่า เว้นแต่จะพิสูจน์เป็นอย่างอื่นย่อมแสดงว่าสามารถนำพยานมาสืบได้โดยไม่ต้องเข้าข้อยกเว้นของป.วิ.พ.มาตรา 94 ก่อน และ มาตรา 561 เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของกฎหมายเท่านั้น
มาตรา 340 การปลดหนี้ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ต้องทำเป็นหนังสือด้วยหรือ ต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย
มาตรา 306 การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ
มาตรา 744 อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป
(2)เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
มาตรา 496 วรรค 2 การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชือผู้รับไถ่ ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เว้นแต่จะได้นำเป็นหนังสือ หรือ หลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 1129 การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงลายมือชื่อรับรองลายมือนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซื้งโอนกันนั้นด้วย